วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการบริจาคเลือด ^ ^

ก่อนที่เราจะบริจาคเลือดนั้นจะต้องทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อน

ว่า การบริจาคเลือด เป็นอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ซึ่งไม่ยากเลยค่ะที่จะทำความเข้าใจ เป็นเรื่องง่ายๆที่ไม่เพียงแต่นักเทคนิคการแพทย์ หมอหรือพยาบาลเท่านั้นที่รู้ ท่านผู้บริจาคทุกท่านก็สามารถนำความรู้เรื่องการบริจาคเลือดไปใช้ได้ในชีวิตจริงค่ะ ^ ^




การบริจาคโลหิต คือการเก็บโลหิตจากผู้มีความประสงค์จะบริจาค แล้วนำโลหิตดังกล่าว ผ่านขบวนการคัดกรอง หากมีคุณสมบัติที่ดีจะถูกนำไปเก็บใน ธนาคารโลหิต หรือส่งไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อนำออกมาใช้ในยามฉุกเฉิน

การบริจาคโลหิต สามารถทำได้ทุกๆ 3 - 4 เดือน ตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายของบุคคลที่จะบริจาค ซึ่งผู้บริจาคจะต้องมีคุณสมบัติ ประกอบกับสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งมีหน่วยเคลื่อนที่บริการในการรับบริจาคโลหิต หรือสามารถบริจาคได้ที่ศูนย์รับบริจาคประจำจังหวัด ของสภากาชาดไทย





ขั้นตอนการบริจาคโลหิต


เตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต



เพื่อที่ผู้บริจาค จะไม่ต้องเสียเวลาโดยไม่จำเป็น ในการรอบริจาค ผู้บริจาคควรสำรวจตนเองว่า มีคุณสมบัติเพียบพร้อมสำหรับการบริจาคหรือไม่ ซึ่งผู้บริจาค ควรมีคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้
เป็นผู้มีอายุระหว่าง 17 - 60 ปี
มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง น้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป
ไม่มีประวัติการเป็นโรคมาลาเรีย ในระยะ 3 ปี
ไม่มีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ หรือดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
ผู้หญิง ไม่อยู่ในระยะประจำเดือน หรือ มีครรภ์
ไม่ควรบริจาคหลังทำการผ่าตัด ในระยะ 6 เดือน
ผู้เคยรับโลหิตงดบริจาค 1 ปี
งดสูบบุหรี่ก่อนบริจาค 12 ชั่วโมง
ไม่ทานยาแก้อักเสบก่อนบริจาค 1 สัปดาห์
ไม่ได้รับเลือดจากผู้อื่นมาระยะ 6 เดือน
ไม่ได้รับวัคซีนภายใน 14 วัน เซรุ่มภายใน 1 ปี
ไม่ได้มีสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่มิใช่คู่สมรส
มีการนอนหลับสนิท ไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง
ไม่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อการบริจาคโลหิต เช่น กามโรค โรคติดเชื้อต่าง ๆ ไอเรื้อรัง ไอมีโลหิต โลหิตออกง่ายผิดปกติ หยุดยาก โรคเลือดชนิดต่าง ๆ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคลมชัก โรคผิวหนังเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ มะเร็ง หรือโรคอื่นๆ
ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ หรือสำส่อนทางเพศ ได้แก่ ท่านหรือคู่สมรสของท่าน เคยมีเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชาย ที่ขายบริการทางเพศ หรือ มีเพศสัมพันธ์แบบชายรักชาย
ไม่ทำการเจาะหู สัก ลบรอยสัก ฝังเข็มในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา
ไม่มีประวัติติดยาเสพติด หรือเคยเป็นผู้ที่เสพยาเสพติดโดยใช้เข็มฉีดยา
ไม่เป็นผู้ติดเชื้อเอดส์
สตรีไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์หรือ ให้นมบุตร และไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนบริจาค
รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และยาธาตุเหล็กเพิ่ม






การบริจาค




เมื่อถึงหน่วยบริจาครับบริจาคโลหิต จะมีผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน นำใบกรอกเพื่อเขียนประวัติของผู้บริจาคและเซ็นชื่อยินยอม และยอมรับว่าข้อมูลทั้งหมดเป็นความจริง

เมื่อกรอกเรียบร้อยจะถึงขั้นตอนการวัดความดัน และตรวจโลหิตขั้นต้น เพื่อคัดกรองโลหิตในขั้นต้น และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริจาคเอง

หลังจากนั้นผู้บริจาคจะถูกพามานอนบนเตียงบริจาคเพื่อเจาะเข็มเข้าเส้นเลือด เพื่อนำโลหิตใส่ยังถุงโลหิต เป็นจำนวน 350 - 450 มิลลิลิตร เจ้าหน้าที่นำเข็มเจาะออก ควรนอนพักเพื่อปรับสภาพสักครู่

เมื่อลุกออกจากเตียง ควรรับอาหารว่าง ที่ทางหน่วยบริการจัดเตรียมไว้ ซึ่งหลักๆ ได้แก่ น้ำหวาน         (น้ำแดง) และ ขนมที่ทำมีธาตุเหล็ก พร้อมทั้งรับ ธาตุเหล็กกลับไปรับประทาน





การปฏิบัติตัวหลังการบริจาค




หลังจากการบริจาคโลหิตแล้ว ผู้บริจาคควรปฏิบัติตนหลังการบริจากตามคำแนะนำ เพื่อประโยชน์ของผู้บริจาคเอง ดังนี้
ดื่มน้ำมากกว่าปกติหลังบริจาคเป็นเวลา 2 วัน
งดออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อหลังการบริจาค หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า
ผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานใช้แรง หรือใช้กำลังมาก ควรหยุดพักหนึ่งวัน
รับประทานยาธาตุเหล็กที่ได้รับวันละ 1 เม็ด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
หลีกเลี่ยงการใช้กำลังแขนข้างที่เจาะ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง



ประโยชน์ของการบริจาคโลหิต



ได้รับความภาคภูมิใจ ในการบริจาค
ได้รับทราบหมู่โลหิตของตนเองในระบบ ABO และ ระบบ RH
เสมือนได้รับการตรวจสุขภาพร่างกาย เนื่องจาก โลหิตที่ได้รับบริจาค ต้องผ่านกระบวนการในห้องปฏิบัติการ หากเป็นโรคร้ายแรง ทางสภากาชาดจะส่งเอกสารข้อมูลไปยังที่อยู่ที่ลงทะเบียนไว้
ช่วยชีวิตผู้อื่นที่ต้องการเลือด เป็นการใช้ชีวิตต่อชีวิต 


Credit : http://th.wikipedia.org